โรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง
หมู่ที่ 2 บ้านป่ามะม่วง  ตำบลป่ามะม่วง  อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก 63000
เบอร์โทรศัพท์ 055-513578
ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียน
ประวัติโรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง
           โรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง  ตั้งอยู่ที่ 60/2 หมู่ที่  2  ตำบลป่ามะม่วง  อำเภอเมืองตาก  จังหวัดตาก  ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2466 โดยอาศัยศาลาวัดอัมพวันเป็นที่เรียน  เปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่   1 – 4  มีนายบุญมา  สุขพละ เป็นครูใหญ่  ต่อมา  นายพร้อม  กาญจนคงคา  ได้มอบที่ดิน  จำนวน 1 แปลง  มีพื้นที่  3 ไร่  48  ตารางวา อยู่ติดกับทางเข้าวัดทางด้านทิศเหนือ และได้ร่วมกันสร้างอาคารชั่วคราวขนาด   3 ห้องเรียน
             ต่อมานักเรียนมีจำนวนมากขึ้น  อาคารเรียนไม่เพียงพอ  ทางราชการจึงได้ให้เงินสมทบกับของชุมชน ก่อสร้างอาคารเรียนแบบ ป.1  ขนาด  3 ห้องเรียน 1 หลัง
             พ.ศ.2505  คณะกรรมการพัฒนาภาคเหนือ  ได้อนุมัติเงินสร้างอาคารเรียนขนาด  3 ห้องเรียน   จำนวน  1  หลัง
             พ.ศ. 2508  คณะกรรมการศึกษาได้สร้างโรงอาหาร ขนาด  6×16 เมตร ให้โรงเรียนอีกหนึ่งหลัง พ.ศ. 2509  ได้รับการสนับสนุนจากอนามัยจังหวัด จัดงบประมาณ  จำนวน  7,000 บาท สมทบกับผู้บริจาคอีก  3,000 บาท  สร้างประปาโรงเรียนและต่อไฟฟ้าเข้าโรงเรียน
การเรียนการสอนดำเนินไปเป็นอย่างดีและชุมชนป่ามะม่วงเป็นชุมชนใหญ่จึงทำให้โรงเรียนมีนักเรียนมากขึ้น จนทำให้สถานที่เดิมคับแคบ  จนกระทั่งปี พ.ศ.2512  นายพยุง  น้อยบุญมา  ตำแหน่งครูใหญ่ได้ขออนุมัติที่ดินถมทรายริมแม่น้ำปิง พื้นที่  10 ไร่  3 งาน และย้ายโรงเรียนจากเดิมมาอยู่ที่ดินแห่งใหม่ และในปี พ.ศ. 2513  ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด  จำนวน 425,000 บาท  และคณะกรรมการพัฒนาภาคเหนืออนุมัติเงินงบประมาณสมทบอีก  450,000 บาท  รวมเป็นเงิน  875,000 บาท  สร้างอาคารเรียนแบบ 015  จำนวน  1  หลัง  ลักษณะ  2 ชั้นๆละ8 ห้อง รวม  16  ห้อง  ต่อมาปี  2518  ได้รับงบประมาณจากองค์การบริหารส่วนจังหวัด  ให้งบประมาณต่อเติมอาคารเรียนจำนวน  500,000 บาท  ขยายห้องเรียนมาทางทิศตะวันออกอีก  4 ห้องเรียน (ชั้นละ 2 ห้องเรียน) รวมเป็น  20  ห้องเรียน  
นอกจากนี้ได้รับงบประมาณจากทางราชการและสภาตำบลสร้างอาคารเรียนประกอบอีก  ดังนี้
             ปี พ.ศ.  2519   สร้างโรงฝึกงาน  แบบ  310   จำนวน  1 หลัง   งบประมาณ    40,500 บาท
บ้านพักครู 1 หลัง งบประมาณ 40,500 บาท  ขยายโรงอาหารให้เป็นหอประชุมขนาด 12 × 32 เมตร  งบประมาณ  57,520  บาท
             พ.ศ.  2520   สร้างบ้านพักครู  2  หลัง งบประมาณ   83,000  บาท สร้างสนามกีฬา (ฟุตบอลแบบ ฟ.1)  งบประมาณ  80,000  บาท
             ปี พ.ศ. 2528    สร้างที่พักสายตรวจ   งบประมาณ   50,000  บาท
             ปี พ.ศ. 2529     สร้างเรือนเพาะชำ งบประมาณ   15,000  บาท  สร้างถังเก็บน้ำฝน  1  ชุด งบประมาณ  85,000 บาท สร้างส้วม แบบ สปช. 601/26 4 ที่นั่ง  งบประมาณ   40,000  บาท
            ปี พ.ศ. 2541  คุณเฉลิม  พุทธวงษ์  สร้างส้วมขนาด 4 ที่นั่ง ให้โรงเรียน เป็นเงิน  50,000 บาท ปี พ.ศ.  2541  โรงเรียนวัดกลางสวนดอกได้ยุบโรงเรียนเนื่องจากนักเรียนมีจำนวนน้อย  นักเรียนส่วนหนึ่งจำนวน  20 คน  ได้มาเข้าเรียนที่โรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง 
              ปี 2543  สร้างส้วมแบบสปช .  601/26  2  ที่นั่ง  งบประมาณ   45,000 บาท 
             ปีการศึกษา  2553  ศูนย์การศึกษาพิเศษตาก  ได้ขอฝากห้องเรียนคู่ขนานเด็กพิการออทิสติก  มาไว้ที่โรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง 
              ปี พ.ศ. 2560 โรงเรียนได้รับคัดเลือกจากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้เป็นโรงเรียนดีใกล้บ้าน (แม่เหล็ก)               โดยสนับสนุนงบประมาณเพื่อเป็นค่าก่อสร้างบ้านพักครู 205/26 จำนวน 1 หลัง งบประมาณ 620,000 บาท  สร้างบ้านพักครู 203/27 จำนวน 1 หลัง  งบประมาณ 645,010 บาท  สร้างอาคารห้องสมุด-ICT จำนวน  1  หลัง งบประมาณ 864,500 บาท สร้างส้วมนักเรียนชาย 6 ที่/49  จำนวน 1 หลัง  งบประมาณ 481,810 บาท และสร้างส้วมนักเรียนหญิง จำนวน 1 หลัง งบประมาณ 408,300 บาท
              ปี พ.ศ. 2564 ภาคเรียนที่ 2 โรงเรียนเด่นวิทยานำนักเรียน 22 คน ครูและบุคลากร 5 คน มาเรียนรวม
           ปี พ.ศ. 2565 โรงเรียนได้รับคัดเลือกเป็นโรงเรียนคุณภาพของชุมชน ระดับประถมศึกษา จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในปีนี้โรงเรียนบ้านวังม่วงนำนักเรียนจำนวน 11 คน โดยแบ่งเป็นชาย 6 คน หญิง 5 คน ครู 2 คน และโรงเรียนบ้านหนองแขมนำนักเรียนจำนวน 8 คน โดยแบ่งเป็นชาย 4 คน หญิง 4 คนและครู 1 มาเรียนรวมและได้รับการจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าปรับปรุงซ่อมแซมอาคารเรียนแบบ 015 งบประมาณ 1,095,000 บาท ก่อสร้างห้องน้ำห้องส้วมนักเรียนชาย         6 ที่/49 งบประมาณ 665,900 บาท  ก่อสร้างห้องน้ำห้องส้วมนักเรียนหญิง 6 ที่ /49  งบประมาณ  525,900 บาท และก่อสร้างอาคารเรียน 108 ล./59-ข (ในเขตแผ่นดินไหว) งบประมาณ  11,950,000 บาท
           ปัจจุบันโรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง เปิดสอนตั้งแต่งชั้น อนุบาล 2 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6     มีเขตบริการนักเรียนจำนวน  2  ตำบล  8 หมู่บ้าน ดังนี้  
ตำบลป่ามะม่วง            หมู่ที่  1,  2,  3, 5 , 6,  7
ตำบลแม่ท้อ                 หมู่ที่  1,  2
อาณาเขตติดต่อ
           โรงเรียนชุมชนบ้านป่ามะม่วง  มีพื้นที่จำนวน  10 ไร่  3 งาน อาณาเขตติดต่อมีดังนี้
                  ทิศเหนือ                     ติดต่อกับโรงเรียนโสตศึกษาตาก
                  ทิศใต้                         ติดต่อถนนเข้าหมู่บ้าน
                  ทิศตะวันออก               ติดต่อถนนเจดีย์ยุทธหัตถี (ติดริมแม่น้ำปิง)
                  ทิศตะวันตก                 ติดต่อที่ดินเอกชน
สภาพชุมชน
               ชุมชนตำบลป่ามะม่วง  มีอาณาเขตติดทอดยาวติดฝั่งแม่น้ำปิง เป็นระยะทาง ประมาณ 2  กิโลเมตร  จึงมีที่ราบริมฝั่งน้ำลึกเข้าไปจากฝั่งประมาณ  800  เมตร ซึ่งเป็นที่ตั้งบ้านเรือน  ทำนา ทำสวน ทำไร่  ต่อจากนั้นจะเป็นเนินเขาเตี้ยๆไต่ระดับเป็นภูเขาสูง  ประชาชนจึงมีอาชีพเกษตรกรรม และหาของป่า  เช่น เห็ด  หน่อไม้ ผักหวาน  อึ่ง  แย้  และอื่นๆ  เนื่องจากตำบลป่ามะม่วง ตั้งอยู่ริมฝั่ง และติดกับเขตเทศบาลเมืองตาก  อยู่ห่างจากศาลากลางจังหวัดเพียง   800  เมตร  และมีหน่วยงานของทางราชการตั้งอยู่ เช่น แขวงการทาง สถานีกาชาด สำนักงานบริหารพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่  14 (ตาก) ศูนย์ฝึกอบรมที่ 5   ของป่าไม้โยธาจังหวัด  วิทยาลัยสารพัดช่าง  บ้านพักของเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ศูนย์การศึกษาพิเศษ  โรงเรียนโสตศึกษาตากจึงเป็นเขตที่ข้าราชการ และประชาชนทั่วไปเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมาก เพราะอยู่ใกล้ที่ทำงาน ใกล้ศูนย์ราชการ และตลาด ทำให้ชุมชนหนาแน่น  ประชาชนในท้องถิ่นดั้งเดิมจึงเริ่มเปลี่ยนอาชีพมาทำการค้าขาย  รับจ้าง  ให้บริการ  ซึ่งทำทั้งในชุมชน   และเข้ามาในเขตเทศบาล   มีบางส่วนใช้เวลาว่างประกอบอาชีพการเกษตร เช่น เลี้ยงวัว ทำนา  ทำสวนผลไม้  ทำไร่  จับสัตว์น้ำ และมีลูกหลานชาวตำบลป่ามะม่วงที่ได้เรียนจนสามารถเข้ามารับราชการประมาณ 23% ความเจริญของท้องถิ่นขยายมาสู่ตำบลป่ามะม่วงมากขึ้นซึ่งเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้สังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงการเกษตรลดลงความเป็นสังคมเมืองมากขึ้น จึงเป็นสิ่งที่ฝ่ายปกครอง  ฝ่ายสังคม  และฝ่ายจัดการศึกษาควรจะได้คำนึงและนำไปวางแผนการดำเนินงานต่อไป